เมื่อพูดถึงเชื้อโรคที่ทนทายาดต่อสภาพแวดล้อมทุกรูปแบบ มีเพียงไม่กี่ชนิดที่สามารถปรับตัวให้แข็งแกร่งได้เหนือกว่า “โนโรไวรัส” (Norovirus) เชื้อโรคที่รบกวนระบบทางเดินอาหารจนเกิดอาการท้องเสียและคลื่นไส้อาเจียนได้อย่างรุนแรง โดยทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อนี้ถึง 685 ล้านคนในแต่ละปี ซึ่งการระบาดของโนโรไวรัสมักพบได้บ่อยตามโรงพยาบาล, บ้านพักคนชรา, โรงเรียน, เรือนจำ, และบนเรือสำราญ
สถิติล่าสุดจากศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของสหรัฐฯ (CDC) เผยว่าทั่วประเทศกำลังเกิดการระบาดของโนโรไวรัสขึ้นอีกครั้ง โดยเชื้อแพร่กระจายอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ท้าย ๆ ใกล้สิ้นปี 2024 เป็นต้นมา หลังจากที่ช่วงฤดูหนาวของปีก่อนหน้าก็เคยเกิดการระบาดหนักมาแล้ว โดยจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดในทางตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ ตั้งแต่เดือนต.ค. ปี 2023
หลายคนอาจสงสัยว่าเหตุใดเชื้อโรคตัวนี้จึงควบคุมได้ยาก เพราะเมื่อเกิดการระบาดขึ้นแล้วก็ไม่สามารถจะหยุดยั้งให้เชื้อไม่แพร่กระจายต่อไปได้เลย “มันเป็นเชื้อไวรัสตัวจิ๋วที่ทนทายาดอย่างเหลือเชื่อ” ศาสตราจารย์กิตติคุณแพทริเซีย ฟอสเตอร์ จากมหาวิทยาลัยอินเดียนา วิทยาเขตบลูมิงตันของสหรัฐฯ ซึ่งได้ศึกษาวิจัยเชื้อโนโรไวรัสมานานหลายปี กล่าวอธิบาย “มันทนความร้อนและอยู่ในอาหารที่มีอุณหภูมิสูงได้ถึง 70 องศาเซลเซียส, ทั้งยังทนต่ออุณหภูมิเยือกแข็ง, อากาศที่แห้งจัดปราศจากความชื้น, และเกาะติดอยู่บนพื้นผิวต่าง ๆ ได้นานหลายวัน”
สาเหตุของความทนทานผิดปกติเช่นนี้ มาจากเปลือกหุ้มของไวรัสที่เป็นโปรตีน ซึ่งทำหน้าที่เสมือนเกราะป้องกันสารพันธุกรรมที่อยู่ภายใน โดยศ.ฟอสเตอร์อธิบายเพิ่มเติมในประเด็นนี้ว่า ไวรัสส่วนใหญ่มีเยื่อหุ้มสารพันธุกรรม ซึ่งเยื่ออ่อนบางนี้ทำให้มันผ่านเข้าสู่เซลล์ของมนุษย์และสัตว์จนเกิดการติดเชื้อในร่างกายขึ้นได้ แต่เยื่อหุ้มดังกล่าวก็มีจุดอ่อน ตรงที่ถูกทำลายด้วยแอลกอฮอล์และสารชำระล้างต่าง ๆ ได้ง่ายเช่นกัน
“โนโรไวรัสไม่ได้เป็นแบบนั้น” ศ.ฟอสเตอร์กล่าว “มันเป็นเหมือนกับระเบิดโปรตีนลูกเล็กจิ๋ว สบู่ล้างมือและแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อทำอะไรมันไม่ได้ เปลือกหุ้มที่เป็นโปรตีนยังทำให้มันผ่านเข้าสู่เซลล์ของคนและสัตว์ได้เหมือนเดิม”
ขอบคุณบทความจาก บีบีซี