รักษามะเร็งแบบ “ทางเลือก” ได้ผลชะงัดจริงหรือ ?

คนดังจำนวนไม่น้อยออกมากล่าวผ่านสื่อว่า การเปลี่ยนแปลงชนิดอาหารที่กินเป็นประจำ และการบำบัดรักษาด้วยวิธีแบบ “ทางเลือก” (alternative therapies) แทนการแพทย์แผนปัจจุบัน สามารถช่วยให้โรคมะเร็งบรรเทาอาการและเข้าสู่ระยะสงบ (remission) ได้ในที่สุด

แต่ในขณะเดียวกัน มูลนิธิทางการแพทย์เกี่ยวกับโรคมะเร็งหลายแห่งได้ออกมาเตือนว่า ทุกวันนี้ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ยืนยันว่าการบำบัดรักษาด้วยวิธีทางเลือกนั้น สามารถจะทำให้โรคมะเร็งสงบหรือหายได้ ดังนั้นจึงออกจะน่าสงสัยว่า การรักษามะเร็งแบบทางเลือกคืออะไร และเหตุใดจึงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

เมื่อเดือนพ.ย. ของปีที่แล้ว นาฟโจต ซิงห์ สิธู นักการเมืองและนักคริกเก็ตคนดังชาวอินเดีย บอกว่าภรรยาที่เคยป่วยเป็นมะเร็งตอนนี้หายดีแล้ว หลังจากเติมพืชผักสมุนไพรหลายขนานลงไปในอาหารและเครื่องดื่ม ตัวอย่างเช่นน้ำมะนาว, ขมิ้นชันดิบ, น้ำส้มสายชูแอปเปิลไซเดอร์, ใบสะเดา, ใบกะเพรา, ทับทิม, ฟักทอง, กูสเบอร์รีอินเดีย, บีตรูต, และถั่ววอลนัต

วิดีโอที่บอกเล่าสูตรอาหารต้านมะเร็งของสิธู กลายเป็นไวรัลในโลกออนไลน์ไปในชั่วข้ามคืน ทำให้บรรดาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็งกว่า 200 คน จากโรงพยาบาลทั่วประเทศอินเดีย ต้องรีบออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า แม้จะกำลังมีการวิจัยทางการแพทย์กับพืชและสมุนไพรบางชนิดที่ถูกกล่าวอ้าง แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานมาสนับสนุนว่ามันจะใช้ได้ผล ประชาชนทั่วไปจึงไม่ควรปฏิบัติตามวิธีการที่ยังไม่ผ่านการทดสอบเหล่านี้ จนเป็นเหตุให้ไม่ไปพบแพทย์หรือเข้ารับการรักษามะเร็งแบบมาตรฐานล่าช้า

ก่อนหน้านั้นในเดือนก.ย. ปี 2023 แอล แม็กเฟอร์สัน นางแบบชาวออสเตรเลียก็ออกมาเผยว่า เมื่อ 7 ปีก่อน ตนเองได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นโรคมะเร็งเต้านม แต่เธอเลือกบำบัดรักษาโรคร้ายนี้ด้วย “วิธีการแบบองค์รวมที่ใช้ญาณหยั่งรู้และหัวใจนำทาง” แทนที่จะเข้ารับเคมีบำบัดตามวิถีของการแพทย์แผนปัจจุบัน

บทความจาก https://www.bbc.com/thai/articles/cgrw8r71e99o