โควิด-19 ในผู้ป่วยโรคไต อันตรายกว่าคนทั่วไป

ไวรัสโควิด-19 มีการระบาดมาตั้งแต่ปลายปี 2019 และยังคงมีการระบาดมาจนถึงปัจจุบัน โดยไวรัสโควิด-19 มีการพัฒนาและกลายพันธุ์ จนปัจจุบันเป็นสายพันธุ์โอมิครอนซึ่งสามารถติดต่อได้ง่ายขึ้น และอาการมักไม่รุนแรงในผู้ที่สุขภาพแข็งแรง แต่ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือกลุ่มที่เรียกว่า “กลุ่ม 608” ซึ่งหมายถึง กลุ่มผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และโรคไตวายเรื้อรัง เป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังเพราะหากเป็นโควิด อาจมีอาการรุนแรง ถึงขั้นเสียชีวิตได้ ทั้งนี้หากผู้ป่วยกลุ่มนี้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ที่มีความรุนแรงก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นไปอีก

ผู้ป่วยโรคไตเป็นผู้ป่วยที่จัดอยู่ในกลุ่ม 608 ที่ต้องเฝ้าระวังและป้องกันไม่ให้ติดเชื้อโควิด-19 เนื่องจากผู้ป่วยโรคไตจะมีการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่ต่ำกว่าคนทั่วไปอยู่แล้ว ดังนั้นหากติดเชื้อโควิด-19 จะทำให้มีอาการรุนแรง กระทั่งต้องรักษาตัวใน ICU และอาจรุนแรงจนเสียชีวิตได้

ไวรัสโควิด-19 อันตรายต่อไตอย่างไร?

เชื้อโควิด-19 เมื่อเข้าไปในร่างกายจะเข้าไปโจมตีอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกาย รวมถึงไต ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญที่ทำหน้าที่กรองของเสียออกจากร่างกาย เมื่อมีการติดเชื้อโควิด-19 เชื้อโควิดจะเข้าไปทำลายเซลล์ของไตโดยตรง ทำให้การทำงานของไตเสียไป อีกทั้งไวรัสจะไปกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของไต ยิ่งทำให้การทำงานของไตลดลงไปอีก จนอาจทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน (acute kidney injury; AKI) ขึ้นได้ นอกจากส่งผลเสียโดยตรงต่อปอดและไตแล้ว เชื้อโควิด-19 ยังอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของไตได้อีกด้วย ดังนั้นผู้ป่วยโควิดที่มีอาการปานกลางถึงรุนแรง ควรต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน

ผู้ป่วยโรคไตติดโควิด-19 มีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป

ผู้ป่วยโรคไตทั้งกลุ่มที่ยังไม่ต้องฟอกไต กลุ่มที่ต้องฟอกไต และกลุ่มที่มีการผ่าตัดปลูกถ่ายไต เป็นผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำ ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ได้ง่ายกว่าคนปกติ ยิ่งในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตซึ่งต้องรับประทานยากดภูมิ ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 มากขึ้นไปอีก และหากติดเชื้อโควิด-19 เชื้อโควิด-19 สามารถเข้าไปทำลายเซลล์ของไตได้โดยตรงดังที่กล่าวไปข้างต้น และมีรายงานว่าผู้ป่วยโรคไตมักมีอาการรุนแรงและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่าคนทั่วไปถึง 3 – 4 เท่า

ภาวะลองโควิด (Long COVID)ในผู้ป่วยโรคไต

เป็นที่ทราบกันว่าผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 หลังจากหายจากการติดเชื้อแล้ว มักมีอาการต่าง ๆ ที่หลงเหลืออยู่หลังหายจากโควิด-19 หรือที่เรียกว่า ภาวะลองโควิด (Long COVID) ผู้ป่วยโรคไตที่ต้องฟอกไต หรือผู้ที่เคยผ่าตัดปลูกถ่ายไต และโรคไตอื่น ๆ จะมีแนวโน้มที่จะมีภาวะลองโควิดได้มากกว่าผู้ไม่มีโรคประจำตัว ซึ่งอาการภาวะลองโควิดพบได้ในทุกระบบของร่างกาย โดยอาการที่พบได้บ่อยได้แก่ 

  • อ่อนเพลีย
  • หายใจไม่เต็มอิ่ม ทำกิจกรรมปกติได้ลดลง เหนื่อยง่ายขึ้น
  • ภาวะสมองล้าสมาธิสั้น ไม่สามารถจดจ่อในสิ่งที่จะทำ ความจำลดลง มีปัญหาการนอนหลับ ความสามารถในการควบคุมความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมลดลง
  • ปวดท้อง ท้องเสีย ไม่อยากอาหาร
  • อาจมีภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวล

ดังนั้นการป้องกันไม่ให้ติดโควิด-19 จึงเป็นการป้องกันที่ดีที่สุดที่จะไม่ให้เกิดอาการต่าง ๆ ข้างต้น และหากมีอาการของลองโควิด แนะนำให้พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจและวินิจฉัยเพิ่มเติม

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคไตในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19

  1. ลดการเดินทางออกไปในที่สาธารณะโดยไม่จำเป็น
  2. แจ้งโรงพยาบาลหรือผู้ดูแลทันที หากพบว่ามีความเสี่ยงสัมผัสเชื้อสูง หรือตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19
  3. ติดต่อกับทางโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลเพื่อขอรับยาทางไปรษณีย์ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการคงที่ และได้รับความเห็นชอบจากแพทย์เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อจากภายนอกบ้าน หากมีอาการเปลี่ยนแปลงแย่ลงให้รีบติดต่อโรงพยาบาล
  4. รับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อควบคุมโรคไม่ให้รุนแรงมากขึ้น
  5. ไม่ควรปรับยาหรือซื้อยากินเอง เพราะยาบางชนิดส่งผลเสียต่อไต 
  6. เมื่ออยู่บ้าน ควรหากิจกรรมทำ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ วันละ 30-60 นาที  สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง
  7. ควรหยุดออกกำลังกายเมื่อรู้สึกเหนื่อย หายใจไม่ทัน เจ็บหน้าอก รู้สึกหัวใจเต้นผิดจังหวะ แน่นท้อง ตะคริว เวียนศีรษะ จะเป็นลม และแจ้งแพทย์ที่ดูแล
  8. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีผลต่อไต และรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ
  9. หากมีอาการผิดปกติอื่น ๆ เพิ่มเติมควรรีบปรึกษาแพทย์

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ต้องรับการรักษาโดยการฟอกเลือดที่โรงพยาบาล

  1. ให้มารับบริการฟอกเลือดตามนัดหมาย 
  2. หากมีไข้ เจ็บคอ หรือเป็นหวัดให้ติดต่อกับทางโรงพยาบาลก่อนที่จะเข้ารับบริการ
  3. ต้องสวมหน้ากากอนามัยที่มีคุณภาพและกระชับกับใบหน้าตลอดเวลาเมื่อออกจากบ้าน และขณะทำการฟอกไต

การป้องกันไวรัสโควิด-19

การดูแลป้องกันตัวเองยังคงเป็นมาตรการที่ดีที่สุดสำหรับการป้องกันเชื้อโควิด-19 ในผู้ป่วยโรคไต เพื่อป้องไม่ให้เกิดความรุนแรงของโรคไตเพิ่มมากขึ้น และลดความเสี่ยงการเสียชีวิต โดยมีคำแนะนำดังนี้

  1. ผู้ป่วยโรคไตควรได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยเร็วที่สุด รวมถึงการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นตามคำแนะนำของแพทย์ 
  2. หากมีอาการสงสัยว่าติดเชื้อโควิด-19 เช่น ไข้ เจ็บคอ อ่อนเพลีย ท้องเสีย ควรรีบไปโรงพยาบาลเพื่อทำการตรวจและรักษาโดยเร็ว 
  3. สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา โดยควรสวมให้กระชับและแนบกับใบหน้า
  4. รักษาระยะห่าง หรือ social distancing อย่างน้อย 1-2 เมตร
  5. ไม่ไปในสถานที่มีความเสี่ยง เช่น สถานที่แออัดหรืออากาศถ่ายเทไม่สะดวก  หรือสถานที่ที่มีการรวมกลุ่ม หรือปาร์ตี้กิน ดื่มฉลองร่วมกัน 
  6. เมื่อไปในที่สาธารณะ หลีกเลี่ยงการสัมผัสราวบันได หรือพื้นผิวอื่น ๆ ที่อาจเป็นแหล่งของเชื้อโควิด-19 
  7. หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์

สรุป

ผู้ป่วยโรคไตเป็นกลุ่มที่มีโอกาสติดเชื้อโควิด-19 ได้ง่ายและเมื่อติดเชื้อโควิด-19 แล้วมีความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงและมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าคนทั่วไป การติดเชื้อโควิด-19 จะทำให้อาการของโรคไตที่เป็นอยู่แล้วรุนแรงมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อหายจากโควิดแล้ว ยังเสี่ยงต่ออาการของลองโควิดได้มากกว่าอีกด้วย 

ดังนั้นการป้องกันและรักษามาตรการ รวมถึงการฉีดวัคซีนโควิด-19 จึงเป็นวิธีที่จะป้องกันภาวะต่าง ๆ ข้างต้นได้ดีที่สุด ผู้ป่วยโรคไตควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ รับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อควบคุมไม่ให้ความรุนแรงของโรคไตเพิ่มขึ้น และหากมีอาการที่ผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไตเพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาโดยเร็ว

บทความดีๆ จาก https://www.praram9.com/covid19-and-kidney-disease/